Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
แม้จะลืมตาดูโลกได้เพียงไม่กี่วัน แต่ทารกแรกเกิดก็พร้อมที่จะเรียนรู้โลกรอบๆ ตัวของเขาแล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจเห็นว่าลูกใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการนอนหลับ ตื่นมาก็หันซ้าย หันขวา ไม่ได้เล่นอะไรมากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแทบทุกนาทีในชีวิตของเจ้าตัวน้อยที่เพิ่งเริ่มต้นนั้นคือการเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดต่างหาก
เพิ่งพบกันแต่หนูจำพ่อแม่ได้นะ
หากจะกล่าวว่าการเรียนรู้ในช่วงวันแรกๆ ของชีวิตหนูน้อยนั้น ส่วนใหญ่มาจากการมองและสังเกตใบหน้าของผู้คนรอบๆ กายก็คงจะไม่ผิดนัก การทดลองโดยในปี ค.ศ. 2000 เรื่อง Is there an innate gaze module? Evidence from human neonates ซึ่งตีพิมพ์ใน Journal of Cognitive Neuroscience พบว่าทารกแรกเกิดชื่นชอบที่จะจ้องมองใบหน้า โดยเฉพาะใบหน้าของพ่อแม่ และในการทดลองนี้ยังพบว่าทารกแรกเกิดจะจ้องมองใบหน้าที่ยิ้มแย้มนานกว่าใบหน้าที่แสดงอารมณ์ในเชิงลบ เช่น หวาดกลัว วิตกกังวล เศร้า หรือตกใจ อีกด้วย
งานวิจัยเรื่อง Neonatal recognition of the mother’s face ที่ตีพิมพ์ในวารสาร British Journal of Developmental Psychology ระบุว่าทารกแรกเกิดที่อายุเพียง 12-36 ชั่วโมง จดจำใบหน้าแม่ของตนเองได้ โดยงานวิจัยนี้ นักวิจัยได้เปิดวิดีโอใบหน้าของผู้หญิงหลายๆ คน รวมทั้งใบหน้าแม่ของทารกแต่ละราย เมื่อวิดีโอฉายภาพใบหน้าแม่ของตน ทารกจะแสดงอาการสนใจมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดนอกจากนี้งานวิจัยยังระบุว่าแม้ทารกแรกเกิดจะยังมองเห็นได้ไม่ชัดเจนดีนัก แต่ก็อาจแยกใบหน้าพ่อแม่ออกจากใบหน้าคนอื่นๆ ด้วยการเรียนรู้รูปทรงของใบหน้า ทรงผม และสีผิว
ทารกเรียนรู้จากสิ่งที่พ่อแม่จ้องมอง
ในโลกใบใหญ่ที่อะไรก็ดูแปลกหูแปลกตาไปเสียหมด ทารกจะเลือกเรียนรู้อะไร? คำถามนี้มีคำตอบจากงานวิจัยโดยศาสตราจารย์ จาก Department of Brain and Cognitive SciencesMassachusetts Institute of Technology(MIT) นักวิจัยได้ทำการศึกษาทารกแรกเกิด พบว่าทารกมักจะมองตามสิ่งที่พ่อแม่หรือคนใกล้ตัวจ้องมอง เช่น หากคุณมองออกไปนอกหน้าต่างเป็นเวลานาน ทารกก็จะมองออกไปนอกหน้าต่างด้วย หรือหากคุณเอาแต่
ในการทดลองนี้ นักวิจัยระบุว่า การมองตามสิ่งที่พ่อแม่จ้องมอง ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้ของทารก เจ้าตัวน้อยจะมองตามสายตาของพ่อแม่ และพยายามทำความเข้าใจว่าพ่อแม่กำลังทำอะไร มีความตั้งใจอย่างไร และจะทำอะไรต่อไป การมองตามสายตาของพ่อแม่นี้ ทำให้ทารกสามารถจำกัดความสนใจอยู่เฉพาะสิ่งที่สำคัญ(สิ่งที่พ่อแม่ให้ความสำคัญ) ซึ่งจะช่วยให้เจ้าตัวน้อยพัฒนาความเข้าใจความคิดและการกระทำของคนใกล้ตัว รวมทั้งสิ่งแวดล้อมรอบๆ กายของลูกด้วย
ทารกเรียนรู้จากการพูด Baby Talk
เคยสงสัยไหมค่ะว่าทำไมเวลาพูดกับเด็กๆ เราต้องทำเสียงเล็กเสียงน้อย แสดงสีหน้ามากกว่าปกติ มีเหตุผลอะไรหลังการกระทำนี้หรือเปล่า? จะว่าไปแล้วการคุยกับเจ้าตัวน้อยด้วยการดัดเสียงสูงๆ ต่ำๆ หรือที่เรียกว่า baby talk นั้น ไม่ใช่วิธีการคุยเล่นสนุกๆ เท่านั้น แต่ยังช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ให้กับหนูน้อยแรกเกิดอีกด้วย
Robin Cooper and Richard Aslin จากแคนนาดา ได้ทำการทดลองกับทารกแรกเกิดที่อายุเพียง 2 วัน โดยให้ฟังเสียงพูดคุยของผู้ใหญ่ผ่านเครื่องบันทึกเสียง พบว่าทารกจะหันศีรษะไปทางเครื่องบันทึกเสียง เมื่อได้ยินการพูดคุยโดยในลักษณะ Baby Talk คือ พูดด้วยเสียงสูงๆ ต่ำๆ มีจังหวะเชื่องช้า ขณะที่เมื่อเปิดเสียงพูดคุยโดยน้ำเสียงปกติของผู้ใหญ่ ทารกไม่มีปฏิกิริยาเปลี่ยนแปลงใดๆ
คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่เมื่อคุยกับลูก มักพูดด้วยลักษณะ Baby Talk ทันทีตามสัญชาตญาณ ทั้งนี้การพูดคุยด้วยภาษาเบบี้ มักมีลักษณะดังนี้
-ใช้โทนเสียงสูง
-ทำเสียงสูงๆ ต่ำๆ
-แสดงสีหน้าท่าทางชัดเจน
-พูดซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง
-พูดช้าลง
-พูดเน้นย้ำคำบางคำหลังจากจบประโยคเช่น หม่ำนมไหม “หม่ำ หม่ำ”
กระตุ้นการเรียนรู้ให้คุณหนูวัยแรกเกิด
ในขณะที่คุณดูแลเจ้าตัวน้อย ลูกรักก็เรียนรู้ที่จะจดจำน้ำเสียง สัมผัส ใบหน้า และสีหน้าท่าทางของคุณไปด้วย ในช่วงสัปดาห์แรกๆ ของชีวิต คุณพ่อคุณแม่อาจเลือกของเล่นที่เหมาะสมกับวัยและพัฒนาการของลูก โดยเลือกของเล่นที่กระตุ้นประสาทสัมผัสด้านการมองเห็น การได้ยินและการสัมผัส เช่น
-ของเล่นมีเสียงกรุ๊งกริ๊ง
-ของเล่นที่มีผิวสัมผัสหลากหลาย
-ของเล่นที่มีเสียงดนตรี
-กระจกของเล่นที่ไม่แตก
อย่าลืมว่าทารกจะมองเห็นได้ดีหากของเล่นมีสีตัดกันชัดเจน เช่น ขาว-ดำ ดำ-แดง รวมทั้งหากมีลวดลายที่เด่นชัด เช่น ลายตาราง รูปทรงสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมต่างๆ ก็จะช่วยกระตุ้นการมองเห็นของลูกได้
เมื่อรู้ว่าของเล่นแบบไหนเหมาะสมกับหนูน้อยวัยทารกแล้ว ลองมาดูวิธีเล่นกับลูกวัยนี้กันบ้างค่ะ
-เปิดเพลงเบาๆ พร้อมกับอุ้มลูก โยกไปมาเบาๆ ตามจังหวะเพลง
-เปิดเพลงแล้วร้องเพลงคลอไปให้ลูกฟัง หากเลือกเพลงกล่อมเด็กที่มีท่วงทำนองฟังสบาย ก็อาจช่วยให้ลูกสงบลงขณะที่ร้องงอแงได้
-เล่นกับลูกโดยไม่ต้องใช้ของเล่น เพียงแค่ยิ้ม แลบลิ้น ทำหน้าตาตลกๆ ให้ลูกได้สังเกตและทำตาม
-เลือกของเล่นชิ้นโปรดของลูก แล้วยกขึ้นในระดับสายตาเจ้าตัวน้อย เลื่อนของเล่นไปซ้ายขวาให้ลูกมองตาม
-เมื่อลูกตื่นนอน จับให้เขาคว่ำหน้าเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลังและคอ อยู่ใกล้ๆ คอยช่วยเหลือหรืออุ้มลูกขึ้นทันทีเมื่อ---เขารู้สึกไม่สบายตัวในท่าคว่ำ
-พูดคุยกับลูก
10 ต.ค. 2566
29 ก.ย. 2566