Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
ความทรงจำแรก
หลักจากเจ้าตัวเล็กเกิดได้ไม่กี่ชั่วโมง ลูกรักจะมีปฎิกิริยาตอบสนองต่อเสียงที่คุ้นเคยยามอยู่ในครรภ์มากกว่าเสียงใหม่ เช่น ถ้าคุณแม่ฟังเพลงโปรดขณะตั้งครรภ์บ่อยๆ เมื่อลูกเกิดมาได้ยินเพลงนั้นเขาจะแสดงอาการว่าจำเพลงนั้นได้
ในการทดลองในเด็กวัย 3 เดือน โดยสอนให้เจ้าหนูน้อยเล่นกับโมบายที่แขวนไว้เหนือเตียงนอนในช่วงเวลาหนึ่ง หลังจากนั้น 2 สัปดาห์ผ่านไปนำโมบายนั้นมาให้เล่นอีกที เด็กน้อยจะดูเหมือนว่าจำวิธีการเล่นไม่ได้ แต่หากมีการเตือนความจำกันอีกสักนิด ความจำเดิมนั้นก็จะกลับมา
เมื่อทารกมีอายุได้ไม่กี่สัปดาห์ความทรงจำของพวกเขาจะยาวนานเพียงแค่ 2 วัน แต่เมื่อมีอายุครบ 15 เดือน พวกเขาจะสามารถจำใบหน้าต่างๆ ได้นานถึง 14 วันถึงอย่างนั้นก็มีการทดลองกันอีก เกี่ยวกับความทรงจำของเด็กทารกแรกเกิดวัย 1 เดือน ให้ฟังเสียงต่างๆ และ 2 ปีต่อมา ทารกคนเดิมได้ยินเสียงนั้นอีก เขาแสดงพฤติิกรรมที่ทำให้รู้ว่าเขาจำเสียงนั้นได้
สำหรับเจ้าตัวน้อย มีส่วนความทรงจำที่เรียกว่า Recognition Memory ซึ่งทำให้ลูกของคุณจำสิ่งที่เคยเห็นหรือเคยสัมผัสทั้ง 5 มาก่อนได้เช่น จำเสียงของคุณแม่ หรือจำกลิ่นของคุณแม่ได้เมื่ออายุครบ 2-3 เดือน ก็จะจำหน้าของคนในครอบครัวได้ และ Recall Memory ที่จะทำให้เจ้าตัวเล็กมีความสามารถจดจำรายละเอียดในเหตุการณ์ต่างๆได้ แม้จะเพียงในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งสิ่งที่เจ้าตัวเล็กจำได้จะเป็นสิ่งที่เจ้าหนูน้อยคิดว่าสำคัญ เช่น จำได้ว่าของเล่นวางอยู่ที่ไหน ซึ่งการที่ลูกรักจำได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป แสดงให้เห็นว่าเจ้าตัวเล็กจำได้ว่ามีสิ่งใดเกิดขึ้นในการกินข้าว อาบน้ำ หรือเข้านอนในครั้งที่แล้ว
ทดสอบความจำ
เกมแสนง่าย ที่คุณแม่คุ้นเคยอย่าง "จ๊ะเอ๋" ถือเป็นการทดสอบความทรงจำของเจ้าตัวน้อยได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะเมื่ออายุ 3 เดือน ลองนำของเล่นมาวางให้ลูกน้อยเห็น ก่อนจะหาผ้ามาคลุมของเล่นนั้นไว้ คุณแม่จะพบว่าลูกน้อยไม่สนใจของเล่นที่หายไป แต่เมื่อเขาอายุครบ 6 เดือน ลองเล่นแบบเดิมอีกสักครั้ง หนูน้อยจะรู้ว่า จะต้องดึงผ้าออกแล้วจึงจะพบของเล่น
นอกจากนี้คุณแม่อาจจะลองเล่นเกมความจำง่ายๆ เช่น เมื่อพาลูกน้อยผ่านสถานที่ที่เคยไปมาแล้ว ให้ถามว่า "จำได้ไหมเอ่ย....ที่นี่ที่ไหน" แล้วรอดูว่าลูกน้อยสามารถตอบได้หรือไม่ ซึ่งเกมนี้จะช่วยให้ลูกของคุณฝึกทักษะการเรียกความทรงจำเก่าๆ กลับมาใช้
ภาษากับความทรงจำ
เด็กอายุระหว่าง 6-12 เดือน ปกติมักจะแสดงให้เห็นถึงทักษะในด้านความทรงจำ เช่น จำหน้าตาคนในครอบครัวได้ จำได้ว่าจะทำให้กล่องเพลงทำงานได้อย่างไร จำได้ว่าหลังจากที่คุณแม่เติมน้ำในอ่าง อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป ซึ่งช่วงนี้เองที่เจ้าตัวเล็กจะเรียนรู้ความสัมพันธ์ของคำศัพท์กับสิ่งต่างๆ เช่น หากว่าคุณแม่พาเจ้าตัวเล็กเข้าไปในสนามเด็กเล่นแล้วเห็นชิงช้า ครั้งต่อไปที่พาเจ้าตัวเล็กกลับมาที่สนามเด็กเล่นอีก ลูกน้อยอาจจะพูดว่า "ชิงช้า" ก่อนที่จะเห็นหรือจะได้เล่นชิงช้าเสียอีก
หนูจำอะไรได้บ้าง
3 เดือน
- เมื่อถึงเวลาอาบน้ำ เจ้าตัวเล็กจะแสดงอาการตื่นเต้นก่อนที่จะได้เห็นอ่างอาบน้ำเสียอีก
6 เดือน
- เมื่อส่งส่งของเล่นให้ลูกรัก ลองแกล้งทำของเล่นตกพื้น เจ้าตัวเล็กจะรีบมองหาของเล่นทันที เพราะหนูน้อยมีความทรงจำเกี่ยวกับวัตถุที่ตกพื้น
9 เดือน
- เมื่อลูกเห็นของเล่นถูกแก้วน้ำคว่ำทับ เขาจะเอื้อมมือออกไปหยิบแก้วออก เพื่อนำของเล่นออกมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงทักษะความจำที่ดีขึ้น
12 เดือน
- ถ้าคุณบอกว่า "หยิบแก้วน้ำมาให้แม่หน่อยครับ" ต้องแน่ใจว่าลูกมองหน้า และให้ความสนใจในขณะนั้นด้วย หลังจากนั้นเขาจะจำและไปหยิบแก้วน้ำมาให้คุณ
10 ต.ค. 2566
29 ก.ย. 2566