เส้นทางสู่ความมั่นคง และมั่งคั่ง

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

เส้นทางสร้างความมั่นคง และมั่งคั่งทางการเงินจริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องยากหากอยากจะทำให้สำเร็จ ความยากอยู่ตรงที่คุณมีความมุ่งมั่นเพียงใด ความมั่นคง มั่งคั่งนำมาซึ่งอิสรภาพทางการเงิน และคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ต้องอาศัยการมีระเบียบวินัยสูงโดยเฉพาะในช่วงแรกๆ ของการเริ่มต้น เมื่อทำได้แล้วชีวิตหลังจากนั้นเรียกว่าพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ

เช็กสุขภาพการเงินกันก่อน
หนึ่งในขั้นตอนของการสร้างอิสระทางการเงินให้กับคุณ คือการหมั่นเช็คสุขภาพทางการเงินอยู่เสมอ หากพบอาการผิดปกติจะได้รีบดำเนินการแก้ไขได้ทันท่วงที ไม่ต้องปล่อยให้เป็นหนี้แล้วมาตามล้างกันทีหลัง การตรวจสุขภาพทางการเงิน มีวิธีการง่ายๆ โดยดูจากตัวชี้วัด 4 ประการดังนี้ คือ

1. อัตราส่วนสภาพคล่องพื้นฐาน หรือ กองทุนฉุกเฉิน ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของบัญชีเงินฝาก

ออมทรัพย์ ควรมีพอสำหรับค่าใช้จ่ายประจำเดือน 3-6 เดือน เช่น หากค่าใช้จ่ายประจำเดือน (ค่าของกินของใช้ บวกกับหนี้สินรายเดือนที่ต้องจ่าย อย่างค่าบ้าน ค่ารถ) เป็น 12,000 บาท คุณต้องมีเงินในบัญชีเงินฝาก 36,000 – 72,000 บาท

2. อัตราส่วนในการจ่ายหนี้สินในแต่ละเดือนไม่ควรสูงกว่า 20% ของรายได้ ถึงแม้ว่าในหลักการทั่วไป กำหนดให้หนี้สินจากการกู้ยืมเพื่อซื้อบ้าน หรือรถยนต์มีได้ไม่เกิน 20-30% แต่ยิ่งมีหนี้น้อยเท่าไร ก็สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งทางการเงินของคุณ

3. อัตราส่วนในการออมเพื่อลงทุนสร้างความมั่งคั่งในแต่ละเดือน ควรเกินกว่า 10% ของรายได้ เพราะยิ่งนำเงินออมไปลงทุนได้มากเท่าไรก็ยิ่งช่วยสร้างความมั่งคั่งสุทธิให้เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

4. อัตราส่วนในการลงทุนหรือสินทรัพย์การลงทุนควรมีมากกว่าครึ่งของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิในปัจจุบัน ซึ่งเป็นตัวแสดงให้เห็นว่ามูลค่าความมั่งคั่งสุทธิมีแต่จะเพิ่มพูนขึ้น เพราะสินทรัพย์การลงทุนสามารถให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นตลอดเวลา

อัตราส่วนทางการเงินส่วนบุคคลทั้ง 4 ประการนี้จะเป็นตัวชี้วัดว่า สุขภาพทางการเงินของคุณเข้มแข็งและมั่นคงมากน้อยแค่ไหน หากคุณมีอย่างหนึ่งอย่างใดต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน นั่นแสดงว่า คุณเริ่มมีสุขภาพทางการเงินในบางเรื่องไม่สู้ดี และควรแก้ไขในจุดนั้นทันที


6 สัญญาณอันตรายสุขภาพทางการเงิน 
มาตรวัดสุขภาพทางการเงินข้างต้น เป็นตัวชี้วัดคร่าวๆ เหมาะสำหรับคนรักสุขภาพที่ใส่ใจตรวจเช็กเป็นประจำทุกปี แต่สำหรับคนที่ไม่ค่อยใส่ใจสุขภาพกันเท่าไหร่ เรามีอีกวิธีที่ให้คุณตรวจสุขภาพการเงินอย่างง่ายสุด เพื่อให้คุณได้รู้ว่าความเสี่ยงในชีวิตคุณก่อตัวขึ้นไล่ระดับมาถึงจุดไหนกันแล้ว

1.ไม่มีเงินเก็บในบัญชีเงินฝาก  คือใช้เงินแบบเดือนชนเดือนทุกเดือน

2. เริ่มขาดสภาพคล่องทางการเงิน  คือเริ่มชักหน้าไม่ถึงหลัง

3. เริ่มส่งค่างวดผ่อนบ้าน ผ่อนรถล่าช้ากว่ากำหนด หรือขอหยุดส่งประกันกลางทาง

4. เริ่มผ่อนชำระหนี้ยอดขั้นต่ำของบัตรเครดิต

5. เริ่มยืมเงินจากเจ้าหนี้รายใหม่มาชำระเจ้าหนี้รายเก่า หรือรูดบัตรนั้นมาจ่ายบัตรนี้

6. เอาทรัพย์สินบางอย่างไปขายแบบขาดทุน หรือต้องยอมขายหุ้นทั้งที่ยังขาดทุน

5 ขั้นสู่ความมั่นคง และมั่งคั่งในชีวิต
หลังเช็คสุขภาพทางการเงินกันเรียบร้อยแล้ว ถ้าคุณพร้อมจะเริ่มต้นชีวิตใหม่เพื่อสร้างความมั่นคง และมั่งคั่งในชีวิต 5 ขั้นตอนต่อไปนี้หากปฏิบัติตามได้อย่างเคร่งครัด ความสำเร็จไม่ไกลเกินเอื้อม

1. ล้างหนี้ เพื่อกำจัดศัตรูตัวฉกาจ  เริ่มจากหนี้ก้อนเล็ก ดอกเบี้ย ไปจนถึงหนี้ดอกถูก ก้อนใหญ่ ในตอนนี้สิ่งที่คุณต้องทำคือ ลดภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เงินที่เหลือจากค่าใช้จ่ายจำเป็นทั้งหมดเอาไปโปะจ่ายหนี้ให้ได้มากที่สุด

2. ตั้งกองทุนฉุกเฉิน  เมื่อหนี้หมดแล้วก็มาเริ่มสร้างกองทุนฉุกเฉินขึ้นมา โดยแบ่งเงินรายได้ออกเป็น 2 กองก่อน กองแรกเป็นเงินสำหรับค่าใช้จ่ายทั้งหมด กองที่สองเป็นเงินฝากในกองทุนฉุกเฉิน เผื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันคุณจะได้ไม่ต้องไปสร้างหนี้ใหม่ให้มีภาระดอกเบี้ยขึ้นมาเบียดบังส่วนรายได้อีก

3. ตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง  เมื่อเงินในกองทุนฉุกเฉินได้จำนวน 3- 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือนแล้ว ในตอนนี้เงินกองที่สองให้หันมาออมผ่านการทำประกันชีวิต โดยเลือกแบบประกันที่เหมาะกับความต้องการ และความสามารถในการชำระเบี้ยประกันของคุณ เพื่อสร้างหลักประกันให้กับชีวิต หากเกิดอะไรขึ้นอย่างน้อยเงินประกันจะช่วยแบ่งเบาภาระจ่ายของคุณ

4. ตั้งกองทุนเพื่อชีวิตในอนาคต  หากมีโอกาส และมีรายได้พอเพียงการออมผ่านกลไกที่ภาครัฐสนับสนุนไม่ว่าจะเป็น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMFRetirementMutual Fund และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว LTF Long-term Mutual Fund จะเป็นการเสริมรากฐานที่มั่นคงให้กับชีวิต

5. กองทุนเพื่อความมั่งคั่ง นำเม็ดเงินไปลงทุนในทางเลือกการลงทุนประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ทางการเงินประเภทตราสารหนี้ หรือตราสารทุน หรือกองทุนรวมประเภทต่างๆ หรือสินทรัพย์ที่จับต้องได้ เช่น อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ หรือของสะสมที่มีมูลค่า โดยยึดหลักการกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้