Last updated: 10 ต.ค. 2566 |
พัฒนาการด้านสังคม (Social Development) คือ ความสามารถในด้านการรับรู้ เข้าใจอารมณ์ของตัวเองและผู้อื่น รวมไปถึงการควบคุมอารมณ์ในการแสดงออก เพื่อการปรับตัวได้อย่างเหมาะสม และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างปกติสุข
พัฒนาการด้านสังคมเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วัยทารก และหากเด็กได้รับการตอบสนองอย่างเหมาะสม ก็จะถูกปรับเปลี่ยนเป็นความไว้วางใจ ที่จะมีต่อพ่อแม่และคนที่เลี้ยงดู ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของพัฒนาการด้านสังคมที่สำคัญ เพราะเมื่อเด็กเริ่มโตขึ้น เค้าก็จะมีการพัฒนาที่ซับซ้อนมากขึ้น การสร้างพื้นฐานตั้งแต่เด็กจึงเป็นเรื่องที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม
พัฒนาการด้านสังคมของเด็กแต่ละช่วงวัย
ทารกถึง 5 เดือน : วัยนี้จะยิ้มให้ผู้เลี้ยงดู หัวเราะ ส่งเสียงโต้ตอบกลับไปมา เล่นผ่านการมอง สัมผัส คว้า เขย่า เคาะ หรือ อมของเล่น
6 เดือน – 12 เดือน : เริ่มมีความสนใจร่วมกับผู้อื่นชัดเจนมากขึ้น สนใจมองตามสิ่งที่ผู้เลี้ยงดูมอง รู้จักชื่อตัวเอง สามารถหันหาเสียงเรียกชื่อได้
1 ขวบ : สนใจมองตามสิ่งที่ผู้เลี้ยงชี้ให้ดู ชี้สิ่งที่ตนเองสนใจ สามารถเล่นของเล่นโดยเข้าใจหน้าที่ของของเล่น เช่น นำรถของเล่นมาเล่นไถกับพื้น ชอบโชว์หรืออวดของ และสามารถชี้ชวนให้คนอื่นสนใจร่วมกับตัวเองได้
2-3 ขวบ : เริ่มเล่นได้ซับซ้อนมากขึ้น รู้วิธีการเล่น และมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กคนอื่นๆ มากขึ้น
ประโยชน์ของการฝึกให้เด็กมีพัฒนาการทางสังคม
มีทักษะการช่วยเหลือตัวเองที่ดีขึ้น เช่น ทานอาหาร ขับถ่าย แปรงฟัน แต่งตัวด้วยตัวเอง
สามารถสื่อสารบอกความต้องการกับผู้อื่นได้ดีขึ้น
รับผิดชอบต่อตนเองและส่วนรวมมากขึ้น เช่น เมื่อเล่นของเล่นเสร็จ ก็นำของเล่นเก็บเข้าที่
สามารถยับยั้งชั่งใจ และรอคอยได้ดีขึ้น เช่น สามารถสลับของเล่นกับเพื่อนได้
หากได้เจอกับอุปสรรค หรือสิ่งที่ไม่ถูกใจ จะเข้าใจความผิดหวังได้ดีขึ้น สามารถควบคุมอารมณ์และจัดการอารมณ์ตัวเองได้ดีขึ้น
รู้จักการเป็นผู้ให้ แบ่งปัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่น
เรียนรู้ที่จะปรับตัวในด้านต่างๆเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ และอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างเหมาะสม
พ่อแม่ ควรส่งเสริมพัฒนาการที่รอบด้านให้กับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญหา เพื่อให้เด็กมีความพร้อมในการใช้ชีวิตอนาคต