Last updated: 11 ก.ย. 2566 |
การที่เด็กคนหนึ่งจะมีสุขภาพจิตที่ดี เติบโตไปเป็นคนที่มีจิตใจเข้มแข็ง มีภูมิต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลง สามารถรับมือกับสถานการณ์ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดี และเรื่องที่ร้าย สิ่งสำคัญที่สุดคือ “การเลี้ยงดูปลูกฝังของพ่อแม่”
ซึ่งแนวทางปฏิบัติต่อไปนี้เป็นจุดเริ่มต้น ที่พ่อแม่สามารถนำไปใช้เป็นในการเลี้ยงลูก เพื่อสร้างสุขภาพจิตที่ดีให้กับเขา
ตั้งใจฟังลูกให้มาก
การฟังลูกไม่ใช่การได้ยินเสียงของลูกเท่านั้น แต่คือการตั้งใจฟังลูกด้วยหัวใจ โดยเฉพาะเวลาที่ลูกตั้งใจเล่าเรื่องสำคัญให้พ่อแม่ฟัง พ่อแม่อย่ามองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยของเด็ก เพราะเรื่องเล็กน้อยสำหรับเรา อาจไม่เล็กน้อยสำหรับเขา และอาจจะเชื่อมโยงไปเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่าในอนาคตได้
มีเมตตาและเอาใจลูกมาใส่ใจเรา
การที่พ่อแม่มี Empathy กับลูก รับรู้อารมณ์และความรู้สึกของลูก คอยสังเกตเห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะความเงียบและความเศร้า และปฏิบัติกับลูกบนพื้นฐานของความรัก ความเข้าใจ จะช่วยให้ลูกรู้สึกมีความมั่นคงปลอดภัยทางจิตใจ
ต้องไม่เปรียบเทียบเขากับเด็กคนอื่น
เด็กแต่ละคนมีธรรมชาติ ความเฉพาะ และเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน สิ่งสำคัญของคนเป็นพ่อแม่คือ ต้องเขาใจยอมรับตัวตนและสิ่งที่ลูกเป็น สนับสนุนให้ลูกได้เป็นตัวเองอย่างเต็มที่ ควบคู่ไปกับการมองเห็นคุณค่าในตัวลูก เพื่อให้เขาเติบโตขึ้นไปเป็นคนที่ภาคภูมิใจในตัวเอง
ปกป้องลูกตามวัยและตามความเหมาะสม
พ่อแม่ต้องรู้จักปกป้องลูกตามวัย อย่างในวัยทารกเน้นการตอบสนองตามความต้องการของลูก เช่น หิวก็ป้อน ง่วงก็กล่อมหลับ หรือในวัยเด็กเล็กต้องพยายามดูแลความปลอดภัยของชีวิต เพราะเป็นวัยที่กำลังเรียนรู้สิ่งต่างๆ และมีความซุกซน หากพ่อแม่สามารถปกป้องลูกได้อย่างเหมาะสม พ่อแม่จะเป็น Safe Zone ที่ดีเยี่ยมของลูก และลูกจะมีความมั่นใจ มีความภาคภูมิใจในตนเอง และมีความเข้มแข็งทางจิตใจ
ไม่ปล่อยให้ลูกติดหน้าจอ
เด็กและวัยรุ่นกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพจิตส่วนหนึ่งมาจากการพฤติกรรมติดจอ พ่อแม่จึงไม่ควรให้ลูกดูหน้าจอทุกชนิด เช่น มือถือ แท็บเล็ต ทีวี คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ขวบ สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งพ่อแม่ต้องไม่ติดจอด้วย เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดี
ฝึกลูกให้รู้จักแยกแยะอารมณ์
การให้ลูกรู้จักอารมณ์ของตัวเองทั้งทางบวกและทางลบ ส่งผลต่อพฤติกรรมต่างๆที่เขาจะแสดงออกได้ด้วย สำหรับเด็กที่เข้าใจอารมณ์ของตัวเอง เขาจะไม่แสดงออกโดยใช้อารมณ์ฉุนเฉียว ก้าวร้าว ท้าทาย เพราะถ้าเขาเข้าใจอารมณ์ของตัวเอง เขาจะรู้จักการผ่อนคลาย และรู้จักหาทางออกที่เหมาะสมให้กับตัวเองได้ ซึ่งตรงนี้พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างให้เด็กเห็นด้วย
“สุดท้าย สารตั้งต้นของการที่มีลูกจะมีสุขภาพจิตที่ดี คือพ่อแม่จะต้องมีสุขภาพจิตที่ดีด้วย มีแรงขับเคลื่อนด้านบวกในการใช้ชีวิต พ่อแม่ต้องมีจิตใจดีและไม่ละเลยที่จะมอบความรักความอบอุ่นและกันและกันในครอบครัว”
29 ก.ย. 2566
10 ต.ค. 2566