"สอนลูกเรื่องประชาธิปไตย" พ่อแม่ก็ทำได้

Last updated: 16 พ.ค. 2566  | 


ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกคนในสังคมไทยไม่ว่าจะคนรุ่นใหม่ ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ รวมไปถึงเด็กๆ กำลังตื่นตัวและให้ความสำคัญในเรื่องของ "ประชาธิปไตย" อย่างมาก ถ้าหากเราอยากให้ลูกๆของเรามีความเป็นประชาธิปไตย พ่อแม่ ผู้ปกครอง คนในครอบครัว คุณครู โรงเรียน สามารถปลูกฝังและสร้างความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยให้กับเด็กได้ตั้งแต่เล็กๆ เลยค่ะ


1. ส่งเสริมให้ลูกกล้าตั้งคำถาม และดูความเหมาะสมเมื่อต้องแสดงความคิดเห็น

การตั้งคำถามนั้นถือเป็นการกระตุ้นความคิด ให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ทักษะในการคิดแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะตอนที่เด็กต้องเผชิญกับความไม่ถูกต้อง สิ่งแรกที่พ่อแม่ต้องทำคือปลูกฝังให้ลูกกล้าที่จะตั้งคำถาม กล้าแสดงความคิดเห็น บนพื้นฐานของเหตุผล ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น และต้องรู้จักกาลเทศะ เช่น การพูดแทรกขึ้นมาทันทีที่ไม่เห็นด้วย การพาดพิงให้คนอื่นเกิดความเสียหาย การกล่าวถึงตัวบุคคล สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ “ไม่ควรทำ”


2. สอนให้ลูกรู้จักยอมรับความแตกต่าง และเคารพสิทธิของผู้อื่น

การเป็นตัวอย่างที่ดีของพ่อแม่เรื่องประชาธิปไตย จะช่วยให้ลูกเรียนรู้เรื่องการเคารพสิทธิของตัวเอง และไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น โดยสามารถเริ่มต้นได้ด้วยการเคารพ และยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น ภายใต้ว่าสิ่งนั้นต้องไม่ทำให้ตัวเองหรือคนอื่นเดือดร้อน นอกจากนั้นจะต้องปกป้องสิทธิของลูกในวันที่เขายังไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ เช่น เมื่อลูกถูกสัมผัส ถูกกอดหรือหอมโดยไม่เต็มใจ เพื่อให้เขารู้ว่าหากไม่เต็มใจก็สามารถปฏิเสธได้เพราะเป็นสิทธิทางร่างกายของตนเองได้


3. พ่อแม่ควรแนะนำ แต่ไม่ควรชี้นำ

สิ่งที่พ่อแม่ควรทำเมื่อเกิดความคิดเห็นไม่ตรงกันระหว่างครอบครัว คือการกระตุ้นให้เกิดการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ ไม่ควรบังคับขู่เข็ญ ไม่สั่งให้ลูกเชื่อ หรือทำตาม ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นพ่อแม่ “อาบน้ำร้อนมาก่อน” ผ่านอะไรมาเยอะกว่า เพราะสุดท้ายการตัดสินใจของลูกนั้น จะกลายเป็นการยอมทำตาม มากกว่าการยอมรับ ดังนั้น ควรใช้วิธีการอธิบายเหตุผลของตนเอง และเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้แสดงความคิดเห็น เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองซึ่งกันและกัน โดยให้ความคิดเห็นของเราเป็นการชี้แนะ แทนการชี้นำหรือบังคับ


4. ให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในครอบครัว

ถ้าพ่อแม่สังเกตเห็นว่าลูกอยู่ในวันที่เริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง เริ่มอยากเลือกสิ่งต่างๆด้วยตัวเอง เวลานั้นพ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้โหวตความต้องการของตัวเอง กับเหตุการณ์ต่างๆในครอบครัวด้วย ไม่ว่าจะเป็น การเลือกสถานที่ไปเที่ยวในวันหยุด การเลือกเมนูอาหารเย็น การเลือกต้นไม้ที่จะปลูกในบ้าน เพื่อให้เขารู้สึกว่าเสียงของเขาก็มีความหมาย เพราะได้มีส่วนร่วมในการแสดงออก รวมทั้งได้ฝึกการเจรจาต่อรอง การให้เหตุผล และการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นค่ะ


5. เปิดโลกกับรับฟังข่าวสารจากหลายช่องทาง

ปัจจุบันการรับฟังข่าวสารต่างๆไม่ได้จำกัดอยู่เพียงสื่อใดสื่อหนึ่ง ช่องทางใดช่องทางหนึ่ง พ่อแม่ไม่ควรปิดกั้นหรือจำกัดการรับข้อมูลข่าวสารของเด็กๆ แต่ควรเปิดกว้าง และสนับสนุนให้พวกเขาหาข้อมูลจากหลายแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ อินเตอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย และ Influencer เพื่อวิเคราะห์ผลดี ผลกระทบ และชั่งน้ำหนักก่อนตัดสินใจ


ประชาธิปไตยเริ่มต้นได้จากครอบครัวนะคะ


Cr: https://www.starfishlabz.com/
https://thepotential.org/knowledge/democracy-vs-dictatorship/

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้