Last updated: 7 มี.ค. 2566 |
จ๊ะเอ๋ ก็เป็นหนึ่งในการเล่นแนะนำในคู่มือ “สิ่งเล็กๆ ที่สร้างลูก” เพื่อส่งเสริมให้เด็กไทยอายุ 0-5 ปีของ สสส. เพราะเป็นการเล่นที่ไม่เคยล้าสมัย และยังปรากฏอยู่ในหลายวัฒนธรรม อย่างในโซนยุโรปเรียกการละเล่นนี้ว่า “peekaboo” ซึ่งการเล่น "จ๊ะเอ๋" เป็นอีกหนึ่งวิธีเล่นง่าย ๆ ที่สร้างรอยยิ้มของลูกได้มากมาย อีกทั้งยังเป็นการเล่นที่ ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไร เพียงแค่มีเราและลูก ความสนุกสนานก็เกิดขึ้นได้
พ.ญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล มองว่า ‘จ๊ะเอ๋’ เป็นการเล่นที่ง่ายและสนุก สร้างความผ่อนคลายทั้งสองฝ่าย และยังส่งเสริมพัฒนาการที่สำคัญ คือ การเรียนรู้ของเด็กที่ว่าวัตถุยังคงอยู่แม้เราจะมองไม่เห็น ระหว่างที่ปิดตาและเปิดตา คล้ายกับหาของซ่อนแอบ ทำให้เด็กเรียนรู้ความคงอยู่ของวัตถุ (Object permanence) เป็นความฉลาดทางปัญญาและความมั่นคงทางจิตใจ สิ่งนี้ลงรากฝังลึกไปในใจเด็ก
ประโยชน์ของการเล่นจ๊ะเอ๋
ฝึกการจดจำข้อมูล สมองของเด็กเล็กๆ นั้นพร้อมจะเรียนรู้และเติบโตอยู่ตลอดเวลา และจะยิ่งพัฒนาได้ดีผ่านการเล่น ทุกช่วงเวลาที่พ่อแม่เล่นจ๊ะเอ๋กับลูกจะช่วยฝึกสมองของลูกด้านการจดจำ ความสนุกเกิดจากการจดจำว่าพ่อกับแม่เคยโผล่มาด้านไหน และคาดเดาว่าครั้งต่อไปพ่อกับแม่จะโผล่ออกมาทางเดิมหรือเปล่า
ฝึกให้รู้จักอดทนรอคอย เมื่อลูกค่อยๆ เรียนรู้ว่า พ่อแม่นั้นมีอยู่จริง พ่อแม่อาจหายไปจากสายตาบ้าง แต่เดี๋ยวก็จะกลับมาใหม่ ลูกจะเริ่มสร้างความเชื่อมั่นในตัวพ่อแม่ ขณะเดียวกันก็เริ่มเรียนรู้การอยู่ได้ด้วยตัวเอง (independence) การเล่นจ๊ะเอ๋จึงเป็นการกระตุ้นให้ฝึกอดทนรอคอย เริ่มจากช่วงเวลาที่แม่ปิดหน้า เด็กก็ต้องรอว่า เมื่อไรแม่จะโผล่มา ซึ่งพัฒนาไปสู่การอดทนรอคอยในเรื่องอื่นๆ ที่มีความยากและซับซ้อนขึ้นตามมา เช่น แม่ออกไปทำงานนอกบ้าน
ช่วยพัฒนาด้านการสื่อสาร สำหรับเด็กเล็กในช่วง 6 เดือนถึง 2 ปีแรกการสื่อสารกับโลกภายนอกจะถูกถ่ายทอดผ่านการยิ้ม หัวเราะ ร้องไห้ มองตา หรือแม้แต่การขยับมือไม้แขนขา เช่นเดียวกับปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นขณะที่ลูกเล่นจ๊ะเอ๋กับพ่อแม่ รอยยิ้มและเสียงหัวเราะที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าการสื่อสารระหว่างกันประสบผลสำเร็จ การเล่นจ๊ะเอ๋จึงเป็นการกระตุ้นพัฒนาการทางการสื่อสารของลูกได้อย่างดี
สร้างสายสัมพันธ์ การเล่นจ๊ะเอ๋ คือช่วงเวลาที่มีลูกเป็นศูนย์กลาง เป็นการเล่นที่สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้ครอบครัว ผ่านการสบตา ทำเสียงสูงเสียงต่ำให้เร้าใจ เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขที่ช่วยถักทอสายสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวให้แน่นแฟ้น
เทคนิคการเล่นจ๊ะเอ๋ ต้องเล่นแบบไหนถึงจะได้ผล
1. เล่นให้เหมาะกับอายุลูก คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มเล่นจ๊ะเอ๋กับลูกน้อยเมื่อลูกอายุประมาณ 6 เดือนขึ้นไป เพราะเป็นวัยที่เริ่มรับรู้ว่าแม่มีอยู่จริง
2. ใช้เสียงสูง และเล่นถี่ๆ หากคุณพ่อคุณแม่เล่นจ๊ะเอ๋ด้วยเสียงสูง จะทำให้การเล่นจ๊ะเอ๋สนุกขึ้นสำหรับทารก และหากจ๊ะเอ๋ถี่ๆ เช่นจ๊ะเอ๋สามครั้งติดกัน ก็จะยิ่งทำให้ทารกสนุกมากขึ้นไปอีกค่ะ
3. โผล่หน้าอย่าให้ซ้ำทิศ ลองเล่นจ๊ะเอ๋โดยโผล่หน้าหลายทาง เช่น บางครั้งโผล่จากมือด้านขวา บางครั้งโผล่จากมือด้านซ้าย จะทำให้เด็กได้ลองคาดเดา และเพิ่มความสนุกมากขึ้นได้
การเล่นเป็นช่องทางการเรียนรู้ของเด็กเล็กโดยไม่จำเป็นต้องลงทุนด้วยสิ่งของราคาแพง สิ่งสำคัญคือ “เวลาคุณภาพ” และ “หัวใจ” เพื่อให้เป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้และสานสัมพันธ์ที่มีความหมายต่อพัฒนาการที่สำคัญในชีวิตของเด็ก
วันนี้อย่าลืมหันไปเล่นจ๊ะเอ๋กับลูกรักกันนะคะ
--
Cr: สสส., ร้านหนังสือ serazu, พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย
10 ต.ค. 2566
29 ก.ย. 2566