Last updated: 24 ก.ค. 2562 |
นึกถึงความสำคัญของภาษา ทำให้นึกย้อนไปสมัยที่ตัวเองตั้งท้องแล้วไปคลอดที่โรงพยาบาลรัฐบาลแห่งหนึ่งที่มีวิทยาลัยพยาบาล ซึ่งหมอที่เป็นเจ้าของไข้ต้องลงตรวจตามหวอด หลังจากทำการโกนขน เข้าห้องน้ำถ่ายออกให้หมด เปลี่ยนกางเกงในใส่โกเต็กซ์ให้เรียบร้อยแล้วมานอนรอที่เตียงตั้งแต่เช้า ระหว่างนอนรอก็จะมีนักเรียนพยาบาลมายืนล้อมรอบเตียง หมอให้นอนหงายเปิดผ้าถุง จากนั้นหมอก็ใช้ปากกาวงบนท้องอยู่หลายจุด พร้อมอธิบายเป็นศัพท์ภาษาอังกฤษ ลูกในท้องเราก็มีอาการเคลื่อนที่โย้ไปมา เราคิดว่าลูกเราน่าจะได้ยินคนพูดภาษาอังกฤษเลยมีการแสดงอาหารโต้ตอบด้วยการถีบท้องแม่ เป็นการคาดเดาเพราะทุกครั้งที่มีหมอมาใช้เครื่องตรวจปากมดลูกว่าเปิดกี่เซ็นต์แล้ว ก็จะมีนักเรียนพยาบาล มาฟังหมอหรือพยาบาลวิชาชีพตรวจ ลูกก็จะดิ้นตอบสนองทุกครั้ง... ตอนนี้ลูกโตแล้ว เรียนรู้ศัพท์ภาษาอังกฤษจากเกม ฮาๆๆๆ ห้ามเล่นไม่ได้ แต่แอบฟังห่างๆ พัฒนาการภาษาเป็นไปในทางที่ดี นี่แม่นะก็เลยโอเค เอาที่ลูกชอบเลยจ้า ....
ลูกควรเรียนรู้เมื่อใดดี ?
จากงานวิจัยพบว่า ทารกเริ่มเรียนรู้เสียงในภาษาตั้งแต่ยังอยู่ในท้องแม่ เสียงของแม่เป็นหนึ่งในเสียงที่ชัดเจนที่สุดที่ทารกในครรภ์ได้ยิน และเมื่อลืมตาดูโลก ทารกแรกเกิด นอกจากจะแยกความแตกต่างระหว่างภาษาของแม่กับภาษาอื่น ๆ ได้แล้ว ยังสามารถแยกความแตกต่างระหว่างภาษาได้ด้วย การเรียนรู้ภาษาขึ้นอยู่กับการประมวลผลของเสียง ทุกภาษาในโลกมีทั้งหมดประมาณ 800 เสียง แต่ละภาษาใช้เพียงประมาณ 40 เสียงหรือ "หน่วยเสียง" ที่แตกต่างจากภาษาอื่น
ฉะนั้นหากคุณพ่อคุณแม่ต้องการให้ลูกน้อยรู้มากกว่าหนึ่งภาษา ควรเริ่มให้เร็วที่สุด ก่อนที่ลูกจะเริ่มพูดภาษาแรกได้ เพราะการเรียนรู้สองภาษาไม่ได้ทำให้ลูกน้อยสับสนหากแต่ยังช่วยเพิ่มความสามารถทางสติปัญญาให้กับลูกน้อยอีกด้วย
ทำอย่างไรให้ลูกสนใจภาษาที่ 2
บรรยากาศสำคัญ ทำให้เป็นเรื่องธรรมชาติ โดยอาจจะใช้การ์ตูนเป็นสื่อกลาง เปิดการ์ตูนภาษาอังกฤษให้ลูกฟังบ่อย ๆ โดยไม่ว่าจะเปิดฟังอะไร พ่อแม่ต้องฟังด้วย หรืออาจจะใช้บัตรคำ การ์ดเกมคำศัพท์ เพื่อเป็นเกมเกมฝึกทักษะทางภาษา หรือหาหนังสือสองภาษาสำหรับเด็กมาให้ลูกอ่าน สื่อเหล่านี้จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ภาษาได้ดี ลูกน้อยจะเพลิดเพลินมากกว่าการท่องจำจากตำราเหมือนในห้องเรียน ที่สำคัญพ่อแม่ต้องใช้เวลาร่วมกับลูก ถ้าให้ลูกเล่นอยู่คนเดียวลูกอาจจะเบื่อได้ง่าย
การพาลูกไปเที่ยวที่ต่าง ๆ หรือไปห้างสรรพสินค้า เป็นการเรียนรู้แบบไม่มีต้นทุน พยายามให้ลูกดูป้าย อ่านให้ลูกฟังและให้พูดตามบ่อย ๆ จนเป็นเรื่องปกติ หรือเมื่อลูกโตพอ คุณสามารถส่งลูกไปเรียนภาษาที่สถาบันซึ่งมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญช่วยสอน และดูแลการออกเสียงที่ถูกต้อง แต่ถ้าพ่อแม่ไม่พูดกับลูกที่บ้านก็ยากที่ลูกจะจดจำได้ดี การนำภาษาที่ 2 มาพูดกับลูกในบางเวลาของชีวิตประจำวัน เป็นการแสดงให้ลูกรู้สึกว่าลูกมีกำลังใจที่จะเรียนรู้ภาษาที่สองร่วมไปกับพ่อแม่...ที่สำคัญคุณต้องไม่ให้ลูกน้อยลืมภาษากำเนิดเด็ดขาด
เรื่องเล่าที่ขำกันเสมอคือภาษาที่ 2 หรือ ภาษาที่ 3 ลูกน้อยมักได้จากพี่เลี้ยง พี่ลี้ยงเป็นคนอีสานลูกน้อยเราจะได้ฝึกพูดภาษาอีสานได้ พี่เลี้ยงเป็นคนเหนือ ลูกน้อยก็จะได้ภาษาเหนือ พี่เลี้ยงเป็นชาวพม่าหรือเขมร ลูกน้อยของเราก็จะพูดภาษานั้น ๆ ได้
นี่แม่นะ !!! คิดว่าภาษาเหล่านี้เป็นกำไรชีวิตของลูกเราทั้งนั้น คุณไม่ควรรังเกียจภาษาเหล่านั้น สำคัญว่า วันนี้หากคุณคิดว่าภาษาที่ 2 สำคัญ คุณต้องหาช่องทางส่งเสริม เพิ่มเติมให้ลูกเรียนรู้โดยไม่ทำให้ลูกคิดว่าคุณกำลังบังคับให้ลูกเรียนรู้เพื่อคุณ ...แต่ควรสร้างบรรยากาศให้ลูกรับรู้ว่าภาษาที่ 2 ไม่ว่าจะเป็นภาษาจีน อังกฤษ ญี่ปุ่น อื่น ๆ อีกมากมาย จะมีบทบาทกับชีวิตของลูก และเป็นประโยชน์กับลูกในอนาคตแน่นอน... #เพราะภาษาเดียวไม่พอสำหรับลูกยุค 4.0 เสียแล้ว
10 ต.ค. 2566
29 ก.ย. 2566