Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
คุณแม่หลายท่านอาจเป็นกังวลว่าควรให้ลูกกินนมมากน้อยแค่ไหนจึงเหมาะสม ตารางการให้นมต่อไปนี้จะช่วยให้รู้ว่าควรให้แค่ไหน ลูกจึงได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอจากน้ำนมแม่
อายุลูก | ปริมาณต่อมื้อโดยเฉลี่ย |
แรกเกิด – 2 เดือน | 2-5 ออนซ์ |
2 – 4 เดือน | 4 – 6 ออนซ์ |
4 – 6 เดือน | 5 – 7 ออนซ์ |
ปริมาณตามตารางข้างต้นเป็นค่าเฉลี่ย ซึ่งจะผันแปรตามน้ำหนักของเด็ก แต่โดยมากแล้วธรรมชาติของเด็กจะร้องเมื่อหิว คุณแม่สามารถให้นมลูกได้ตลอดเวลาตามความต้องการของเขาในช่วงหลังคลอดใหม่ๆ ซึ่งปกติทารกแรกเกิดจะกินนมปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้ง คือประมาณทุก 2-3 ชั่วโมง เพราะกระเพาะอาหารของเขายังเล็ก และนมแม่ย่อยง่าย เมื่อโตขึ้น ลูกจะดูดนมนานขึ้น แต่ไม่ถี่เท่าช่วงแรกๆ
วิธีสังเกตุว่าลูกได้รับน้ำนมเพียงพอหรือไม่ ให้ดูจากฉี่ อย่างน้อยต้องให้ได้ 6 ครั้งต่อวัน และเจ้าตัวเล็กร่าเริงสดใส กรณีที่ลูกเอาแต่นอน และหลับยาวเลยเวลาให้นมนานเกินกว่า 4 ชั่วโมง ควรปลุกเขาให้ขึ้นมากินนม โดยเฉพาะนมมื้อดึกในช่วงสัปดาห์แรกๆ เป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะเจ้าหนูต้องการสารอาหารเพื่อการเติบโต
กรณีให้ลูกดูดนมจากอก คุณแม่ไม่ต้องกังวลนะคะว่าเขาจะอิ่มหรือเปล่า เขาดูดพอแค่ไหนก็แค่นั้นค่ะ เมื่อเขาหิวก็จะส่งเสียงร้องเรียกให้คุณแม่มาเสิร์ฟนมรอบใหม่เอง หลายท่านเป็นกังวลจนให้นมเสริม ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นผลให้เจ้าหนูหิวช้า และดูดนมแม่ได้น้อยลง จนท้ายที่สุดแล้วเมื่อลูกไม่ได้ดูดกระตุ้น ร่างกายของแม่ก็จะผลิตน้ำนมน้อยลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นปัญหาให้คุณไม่สามารถให้นมลูกเองได้
กรณีที่คุณไม่สะดวกให้ลูกดูดนมจากอก ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดๆ การปั๊มน้ำนมเก็บไว้ ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยกระตุ้นให้คุณยังคงมีน้ำนมให้ลูกน้อยได้ดื่มกินได้ตลอดช่วงวัยของเขาค่ะ ตารางด้านล่างเป็นวิธีการเก็บรักษาน้ำนมแม่ให้ยังคงคุณค่าสารอาหารครบถ้วนค่ะ
ตารางการเก็บน้ำนมแม่
วิธีเก็บ | อุณหภูมิ | ระยะเวลาเก็บได้นาน |
ตู้เย็นช่องธรรมดา | 4 องศาเซลเซียส | 5 วัน |
ช่องแช่แข็งตู้เย็นประตูเดียว | อุณหภูมิไม่คงที่ | 2 สัปดาห์ |
ช่องแช่แข็ง (ประตูแยก) | -14 องศาเซลเซียส | 3 เดือน |
ช่องแช่แข็งพิเศษ | -20 องศาเซลเซียส | 6 เดือน |
ลูกน้อยนอนอย่างไร
หากคุณแม่ดูแลลูกน้อยให้นอนหลับสนิทยาวนาน จะช่วยให้ฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโต (Growth Hormone) ของลูกหลั่งออกมาได้ดี ทำให้ลูกมีการเติบโตที่ดี พัฒนาการดี และตื่นขึ้นมาด้วยความสดชื่นพร้อมเรียนรู้อยู่เสมอ มาดูกันว่า เราควรจะให้ลูกน้อยนอนแค่ไหน เพื่อให้ลูกสดใสแข็งแรง
ลูกวัยแรกเกิด – 1 เดือน : ยังนอนไม่เป็นเวลา แต่จะใช้เวลานอนทั้งกลางวัน และกลางคืน ประมาณ 16 – 18 ชั่วโมง
ลูกวัย 2 -3 เดือน : จะเริ่มนอนน้อยลง และจะนอนกลางคืนมากกว่ากลางวัน ลูกวัยนี้ใช้เวลานอนทั้งหมดวันละ 14 – 16 ชั่วโมง
ลูกวัย 3 เดือนขึ้นไป : จะนอนกลางวันลดน้อยลง และนอนกลางคืนได้ยาวขึ้น ลูกจะใช้เวลานอนประมาณ 11 – 12 ชั่วโมง
10 ต.ค. 2566
29 ก.ย. 2566