Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
เด็กเล็กๆ ที่ยังพูดไม่ได้จะใช้เสียงร้องไห้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับผู้เป็นแม่ เพื่อบอกให้รู้ว่าเขากำลังหิว กระหายน้ำ เบื่อ หรือแม้กระทั่งเกิดอาการเจ็บป่วยขึ้น เมื่อเสียงร้องของเจ้าหนูมีความหมายมากมายขนาดนี้จึงเป็นเรื่องยากสำหรับคุณแม่ในการตีความจากเสียงร้องนั้น โดยปกติแล้วหากเสียงร้องของเจ้าหนูเพียงบอกให้รู้ถึงความต้องการทั่วๆ ไป เขาจะสงบนิ่งลงได้เมื่อคุณเข้าไปตอบสนองความต้องการนั้นๆ แต่ถ้าหากป้อนนมก็ไม่เอา ให้น้ำก็ปัดทิ้ง อุ้มก็แล้ว ปลอบก็แล้วยังไม่นิ่ง แถมยังกรีดร้องหน้าดำหน้าแดงอย่างนี้ ให้คุณตั้งข้อสงสัยได้เลยว่าเขากำลังเจ็บปวดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง.
พฤติกรรมอย่างนี้.. ปวดอะไร
เมื่อเจ็บปวดจากอาการป่วยเจ้าหนูจะกรีดร้องเสียงสูง ตามด้วยหยุดหายใจชั่วพักหนึ่ง หรือไม่ก็หอบหายใจแรง ร่วมกับพฤติกรรมที่บ่งบอกให้รู้ว่าเขาเจ็บปวดบริเวณนั้น ซึ่งคุณเองสามารถสังเกตได้ไม่ยากนัก
คอลิค เจ้าหนูจะโก่งหลัง ยกขาชูขึ้นมาข้างหน้า งอเข่าไปที่อก คล้ายกับจะป้องกันส่วนท้องของตน เมื่อเจ้าหนูมีอาการขึ้นมาให้คุณหาวิธีที่จะทำให้เขารู้สึกผ่อนคลายลง ซึ่งเด็กแต่ละคนมีความชอบที่ไม่เหมือนกัน โดยทั่วไปแล้วการอุ้มเขามาไว้แนบอก ร้องเพลงกล่อม ให้ดูดนม หรืออุ้มออกไปเดินเล่นก็จะช่วยได้ สาเหตุของอาการนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดนัก แต่แพทย์บางรายวินิจฉัยว่าน่าจะเป็นผลมาจาก เด็กมีอาการเสียดท้อง หรือไม่ก็ลำไส้ยังมีพัฒนาการไม่เต็มที่ทำให้มีปัญหาในการย่อย ปกติมักมีอาการในช่วงเย็น โดยจะเริ่มเป็นเมื่อมีอายุ 14 สัปดาห์ขึ้นไป และหายไปได้เองเมื่ออายุสาม หรือสี่เดือน
ปวดท้อง เขาจะตัวเกร็ง ร้องไห้จนหน้าดำหน้าแดงพร้อมกับโบกแขนขาไปมา โดยปกติหลังทามหาหิงคุ์ไม่นานเด็กจะรู้สึกสบายตัวขึ้น แต่ถ้าหากอาการปวดนานกว่า 6 ชั่วโมง ท้องอืดบวม เด็กมีไข้ และอาเจียน อาจมีความผิดปกติเกิดขึ้นในช่องท้องซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินคุณแม่ควรรีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์ด่วน
ปวดหู ใช้มือจับหูไว้ หรือปัดหู พร้อมกับร้องไห้ ลองให้เจ้าหนูดูดนม หรือน้ำอุ่นบ่อยขึ้นจะช่วยบรรเทาปวดได้ หากมีไข้น้ำมูกไหลร่วมด้วย หรือบางรายมีอาการรุนแรงถึงขั้นอุจาระราด และอาเจียน คุณควรรีบพาเขาไปพบแพทย์โดยทันที
ผื่นผ้าอ้อม เด็กจะร้องด้วยอารมณ์หงุดหงิด พยายามใช้มือดันผ้าอ้อมออก หรือปัดป่ายแถวที่คัน เมื่อตรวจดูบริเวณนั้นจะมีผื่นแดงขึ้น เป็นมันเงา และอาจถึงขั้นผิวแตก หากมีการติดเชื้ออย่างรุนแรงเด็กจะมีอาการปวดแสบ คุณควรถอดผ้าอ้อมออกให้กับเขา และงดเว้นการใส่ผ้าอ้อมจนกว่าเขาจะหายจากอาการผื่นคัน
ฟันงอก เหงือกแดง แก้มร้อนผ่าว น้ำลายไหล ชอบเอานิ้วใส่เข้าไปในปาก หงุดหงิดโมโห การบรรเทาปวดคุณอาจหาอะไรให้เขาเคี้ยว เช่น แครอทเย็นๆ (แต่อย่าแช่แข็ง) หรือของเล่นสำหรับกัด หรือใช้นิ้วของคุณป้ายน้ำขิงถูเหงือกให้เขาก็อาจช่วยได้ แต่ถ้าหากเขาตัวร้อนเป็นไข้ ไม่ยอมกินอาหาร ปัสสาวะบ่อยครั้ง และมักร้องไห้ทุกครั้งที่ปัสสาวะออกมานั่นอาจบ่งบอกว่าเขามีอาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะร่วมด้วย คุณควรพาเขาไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา
การฉีดวัคซีน ภายในหนึ่งสัปดาห์หลังฉีดวัคซีน ลูกน้อยของคุณอาจมีไข้ ตัวร้อน มีอาการอักเสบ บวมแดง และมีผื่นขึ้นบริเวณที่ฉีด อาการเหล่านี้จะหายไปได้เอง อย่างไรก็ตามเด็ก 1 ใน 1,000 รายอาจมีการชักร่วมด้วย ขณะเด็กหนึ่งในล้านอาจมีอาการสมองอักเสบได้ ดังนั้นหากพบว่าเด็กมีอาการชักร่วมด้วย คุณควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง
ลมในกระเพาะ หรือลำไส้ เขาจะมีอาการบิดตัวงอพร้อมกับร้องไห้ ช่วงขณะคุณป้อนอาหารให้เขา หรือหลังจากป้อนอาหารเสร็จใหม่ๆ ให้อุ้มเจ้าหนูพาดไหล่แล้วใช้มือตบ หรือลูบเบาๆ ที่หลังจนกว่าเขาจะเรอออกมา หากไม่ถนัดอุ้มพาดไหล่ คุณอาจอุ้มเจ้าตัวเล็กไว้บนตัก หรือพาดท่อนแขนแล้วลูบหลังให้ก็ได้
การได้รู้ว่าลูกน้อยของคุณป่วยเป็นอะไร นอกจากจะช่วยให้คุณบรรเทาความเจ็บปวดของลูกน้อยได้อย่างตรงจุดแล้ว ยังช่วยให้คุณประเมินได้ว่าอาการป่วยนั้นร้ายแรงจนต้องรีบพาไปพบแพทย์เร่งด่วนหรือไม่
ตารางประเมินความรุนแรงของอาการปวด
นอกจากพฤติกรรมที่ลูกน้อยแสดงออกมาให้รู้ว่ามีอาการเจ็บป่วยเกิดขึ้นแล้ว คุณยังสามารถประเมิน ระดับความรุนแรงของอาการปวดเจ้าตัวเล็กเพื่อความแน่ใจในการตัดสินใจพาเขาไปพบแพทย์ นอกจากนี้ผลการประเมินของคุณยังเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยเพื่อให้การรักษาของคุณหมออีกด้วย
จากตารางด้านล่างนี้ให้คุณสังเกตอาการแสดงของลูกน้อยแล้วให้คะแนน จากนั้นรวมคะแนนออกมา หากคะแนนที่ได้น้อย หรือเป็นศูนย์ แสดงว่าอาการปวดไม่รุนแรง แต่ถ้าคะแนนออกมาสูงแสดงว่าเขาเจ็บปวดมาก คุณควรพาเขาไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษา
พฤติกรรม | การแสดงออก | คะแนน |
การเปล่งเสียง | เปล่งเสียง หรือพูดทางบวก | 0 |
การเคลื่อนไหว | เคลื่อนไหวสบาย | 0 1 2 |
สีหน้า | ยิ้ม เฉย บึ้ง , แบะ กัดฟัน | 0 1 2 3 |
การสนองต่อการสัมผัส | เฉย สะดุ้งเมื่อขยับหรือแตะต้องบริเวณที่เจ็บ ร้องไห้เมื่อขยับหรือแตะต้องบริเวณที่เจ็บ | 0 1 2 |
10 ต.ค. 2566
29 ก.ย. 2566