ประกันสังคมเรื่องที่ไม่ควรมองผ่าน

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

เมื่อพูดถึงประกันสังคม คนทั่วไปมักนึกถึงสิทธิการรักษาพยาบาลมาเป็นอันดับแรก และละเลยสิทธิอื่นๆ ซึ่งจริงๆ แล้วเงินที่คุณถูกหักจ่ายเป็นค่าประกันสังคมนั้นถูกแบ่งจ่ายเข้า 6 กองทุน เพื่อสิทธิ 6 ประการ หากแต่การจะได้ใช้สิทธิในประการอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการรักษาพยาบาลนั้นต้องใช้เวลานาน หรือต้องแลกมาด้วยความสูญเสีย ซึ่งระยะทางระหว่างนั้นบางคนอาจมีเหตุให้ต้องลาออกจากงานไปทำอาชีพอิสระบ้าง อยู่บ้านเลี้ยงลูกเป็นแม่บ้านเต็มตัวบ้าง ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วมักคิดกันว่าเมื่อขาดส่งประกันสังคมไปแล้วนั่นเท่ากับคุณหมดสิทธิในกองทุนที่เคยส่งเงินสะสมทุกเดือน ในความเป็นจริงสิทธิบางประการของคุณยังคงอยู่ และบางสิทธิเป็นเงินก้อนจำนวนหนึ่งที่น่าเสียดายทีเดียว ถ้าจะมองข้ามไป

ผลประโยชน์ของคุณยังคงอยู่
สิทธิที่คุณจะได้มี 2 แบบ คือ เงินบำนาญทยอยจ่ายเป็นรายเดือนไปจนตลอดอายุขัย กรณีนี้ คุณต้องมีการจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า180 เดือน หรือเป็นเวลา 15 ปี โดยจะส่งเงินสมทบติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม เมื่อมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ คุณมีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนในอัตราร้อยละ 20  ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง และกรณีที่มีการจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน จะได้ปรับเพิ่มอีกในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุก 12 เดือน 

กรณีจ่ายเงินสมทบกองทุนชราภาพน้อยกว่า 180 เดือน แต่ไม่ต่ำกว่า 12 เดือนขึ้นไป คุณจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพมีจำนวนเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างนำส่งพร้อมผลประโยชน์ตอบแทน ตามที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด แต่ถ้าไม่ถึง 12 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพมีจำนวนเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายสมทบไป

คนส่วนใหญ่จะอยู่ในขั้นจ่ายเงินสมทบมาแล้วเกิน 12 เดือน แต่ไม่ถึง 180 เดือน ซึ่งนั่นหมายความคุณมีเงินก้อนจำนวนหนึ่งอยู่ในกองทุนชราภาพ แม้คุณจะไม่ได้ทำงานและไม่ได้ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมแล้ว แต่สิทธินี้ยังคงอยู่ เมื่อคุณอายุครบ 55 ปีสามารถยื่นความจำนงขอเงินส่วนนี้มาใช้ได้ ที่สำคัญคือ ต้องขอคืนภายใน 1 ปีหลังจากเกษียณเท่านั้น ห้ามเกินแม้แต่วันเดียว มิฉะนั้นจะถูกยกเข้าเงินกองกลางไปเลย และไม่สามารถฟ้องอุทธรณ์ได้เลย 

ทั้งนี้ หากผู้ประกันตนเสียชีวิตก่อนอายุ 55 ปี ว่า ทายาทผู้มีสิทธิ กล่าวคือ บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย สามี ภรรยา บิดา มารดาของผู้ประกันตน จะได้รับสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพดังกล่าวโดยผู้มีสิทธิจะต้องยื่นเรื่องขอรับบำเหน็จชราภาพตามเงื่อนไขในทันที



ซึ่งนอกจากเงินบำเหน็จชราภาพแล้ว กรณีผู้ประกันตนเสียชีวิต ทายาทผู้มีสิทธิจะได้รับสิทธิประโยชน์กรณีตายอีกด้วย ได้แก่ เงินค่าทำศพจำนวน 40,000 บาท เงินสงเคราะห์กรณีตายตามระยะเวลาที่ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบ (กรณีที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 10 ปี ทายาทผู้มีสิทธิจะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ยเดือนครึ่ง กรณีจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป ทายาทผู้มีสิทธิจะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 5 เดือน) 

ตัวอย่างเช่น นาย ก เป็นผู้ประกันตนส่งเงินสมทบตั้งแต่ปี 2541 – 2549 และได้เสียชีวิตลงขณะอายุ 50 ปี โดยมียอดเงินสะสมกรณีชราภาพ 50,000 บาท ดังนั้น ทายาทผู้มีสิทธิของนาย ก จะได้รับประโยชน์ทดแทน เป็นเงินค่าทำศพ 40,000 บาท เงินสงเคราะห์กรณีตาย 1.5 เท่า ของค่าจ้างเฉลี่ยรายเดือน (เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ยของผู้ประกันตนเดือนครึ่ง) เงินบำเหน็จชราภาพ 50,000 บาทรวมทั้งดอกผลตามประกาศของสำนักงานประกันสังคม

หากคุณมีข้อสงสัย หรือต้องการสอบถามสิทธิของคุณ สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ หรือ โทร.1506 ติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง ให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุด ตั้งแต่เวลา 07.00 – 19.00 น. หรือติดต่อระบบโทรศัพท์ตอบรับอัตโนมัติให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง หรือดูรายละเอียดได้ที่ www.sso.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้