Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
“สมองของของทารกเรียนรู้จากการเฝ้าสังเกตสิ่งที่พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูทำให้เห็นเป็นประจำ และหากคุณอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่หนูน้อยยังแบเบาะก็มีความเป็นไปได้สูงว่าลูกจะเติบโตเป็นนักอ่านที่ดีในอนาคต ยิ่งพ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังบ่อยๆโดยเฉพาะเมื่อลูกอายุประมาณ 8 เดือนจะทำให้ลูกได้ยินคำศัพท์ที่หลากหลายและมีคลังคำศัพท์สะสมไว้ในสมองมากขึ้นเมื่ออายุครบ 3 ปี”
หากจะกล่าวว่า หนังสือเพียงหนึ่งเล่ม สามารถทำให้เราเห็นโลกได้ทั้งโลก ก็อาจจะไม่ผิดนักยิ่งสำหรับเจ้าตัวน้อยที่เพิ่งเป็นสมาชิกใหม่ของโลกกว้าง การได้รับรู้เรื่องราวต่างๆ จากหนังสือ ไม่เพียงจะทำให้ลูกเข้าการใช้ชีวิตในโลกมากขึ้น แต่รูปภาพสวยๆ สีสันสดใส ยังช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
อ่านหนังสือกับเบบี๋จะดีเหรอ ?
ดีแน่ๆ ค่ะ แม้ว่าเจ้าตัวน้อยขวบปีแรก อาจไม่สามารถสื่อสารตอบสนองคุณพ่อคุณแม่ได้ แต่ทุกๆ เรื่องราว ทุกๆ คำศัพท์ ที่ลูกได้ยินระหว่างที่คุณอ่านหนังสือให้ลูกฟังนั้น จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของลูกอย่างมากโดยในช่วง 3 เดือนแรก ลองใช้เวลาวันละ 5-10 นาที อ่านหนังสือให้ลูกฟัง เลือกเวลาที่คุณและลูกกำลังอารมณ์ดี รู้สึกผ่อนคลาย เช่น หลังให้นม หลังอาบน้ำ หรือก่อนจะกล่อมให้ลูกนอน สำหรับคุณแม่ที่มีเวลาน้อย อาจใช้วิธีเล่านิทานให้ลูกฟังขณะที่เจ้าตัวน้อยกำลังกินนมแม่ก็ได้ วิธีนี้จะทำให้ลูกได้เรียนรู้เรื่องราวง่ายๆ ที่ใช้คำไพเราะ คล้องจองจากนิทาน นอกจากนี้ หากคุณพ่อคุณแม่เคยอ่านหนังสือให้เจ้าตัวน้อยฟังตั้งแต่ลูกยังอยู่ในท้อง คุณอาจประหลาดใจกับการตอบสนองของลูก เมื่อคุณอ่านหนังสือเรื่องเดิมนั้นให้ลูกฟังอีกครั้ง
ข้อมูลจาก National Research Council ประเทศสหรัฐ ได้ทำการศึกษาและพบว่าสมองของของทารกเรียนรู้จากการเฝ้าสังเกตสิ่งที่พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูทำให้เห็นเป็นประจำ และหากคุณอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่หนูน้อยยังแบเบาะ ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าลูกจะเติบโตเป็นนักอ่านที่ดีในอนาคต โดยเมื่อพ่อแม่พูดคุย ร้องเพลง หรืออ่านหนังสือให้ลูกฟัง เปรียบเสมือนเป็นการเปิดสวิชท์ในสมองของเจ้าตัวน้อย ทำให้เครือข่ายใยประสาททำงานและมีการเชื่อมโยงกัน นอกจากนี้การศึกษาเรื่อง The developing brain and early learningโดย ผศ. PerriKlassกุมารแพทย์ชาวอเมริกัน ยังระบุว่าเด็กๆ ที่ไม่เคยหยิบจับหนังสือ และพ่อแม่ไม่เคยเล่านิทานให้ฟังเป็นเด็กที่อาจไม่แข็งแรงสมบูรณ์ทั้งกายและใจ
งานวิจัยเรื่อง Meaningful Differences in the Everyday Experiences of Young American Childrenโดย Paul H Brookesพบว่า ยิ่งพ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังบ่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อลูกอายุประมาณ 8 เดือน จะทำให้ลูกได้ยินคำศัพท์ที่หลากหลาย และมีคลังคำศัพท์สะสมไว้ในสมองมากขึ้นเมื่ออายุครบ 3 ปี
เลือกหนังสือให้ลูกรัก
ทุกวันนี้มีหนังสือสำหรับเด็กมากมายหลายรูปแบบ แล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเล่มไหนเหมาะกับเจ้าตัวน้อยของคุณ ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำคร่าวๆ ในการเลือกหนังสือสำหรับลูกน้อยขวบปีแรก
เจ้าตัวน้อยแรกเกิด – 6 เดือน
สำหรับวัยแรกเกิด – 6 เดือน การมองเห็นของลูกกำลังพัฒนา ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกหนังสือที่มีตัวหนังสือน้อยๆ มีรูปภาพใหญ่ๆ และควรเป็นรูปภาพที่มีสีสันสดใส ทั้งนี้ คุณอาจลองเลือกหนังสือที่มีของเล่นประกอบเช่น ตุ๊กตาผ้า กระจก หรือหนังสือที่มีพื้นผิวสัมผัสหลากหลายในเล่มเดียว เพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสของเจ้าตัวน้อยผ่านเรื่องราวต่างๆ นอกจากนี้ ในบางวันคุณอาจเปลี่ยนบรรยากาศด้วยการเลือกอ่านนิตสารเล่มโปรดของคุณ ให้ลูกฟังบ้างก็ได้ เพราะสำหรับเจ้าตัวน้อยวัยนี้ เนื้อหายังไม่สำคัญเท่าการที่ลูกได้ใช้เวลาร่วมกับคุณ
เจ้าตัวน้อยวัย 7-12 เดือน
ผ่านมาครึ่งทางแล้วสำหรับขวบปีแรกของเจ้าตัวน้อย วัยนี้ลูกรักอาจพูดคำศัพท์ง่ายๆ ตามเรื่องราวที่คุณเล่าให้เขาฟังได้แล้ว และคำศัพท์ที่สำคัญที่เจ้าตัวน้อยวัยนี้ควรเรียนรู้ คือ ชื่อ และคำเรียกสิ่งของต่างๆ ที่พบได้ในชีวิตประจำวัน หนังสือนิทานที่มีเนื้อหาง่ายๆ เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน และมีตัวนำเรื่องตัวเดียว จะทำให้ลูกเรียนรู้และจดจำคำศัพท์ที่เขาได้ยินซ้ำๆ และเชื่อมโยงเข้ากับโลกในความเป็นจริงได้ดี ขณะที่เล่า ชี้ที่รูปภาพพร้อมพูดชื่อคำเรียกสิ่งนั้นให้ลูกฟัง และอย่าลืมเชื่อมโยงสิ่งของในหนังสือ เข้ากับสิ่งที่มีอยู่ในบ้านจริงๆ เช่น หากเล่าเรื่องการดื่มนม ชี้รูปแก้วนมในหนังสือให้ลูกดู แล้วอย่าลืมชี้แก้วนมที่คุณมีในบ้านให้ลูกเห็นด้วย เปิดโอกาสให้เจ้าตัวน้อยได้ส่งเสียงตามขณะที่คุณเล่าเรื่อง จะทำให้ลูกน้อยได้เรียนรู้ที่จะมีส่วนร่วมที่จะมีความสนใจในสิ่งเดียวกันกับคนอื่นๆ
แถมอีกนิดสำหรับการเลือกหนังสือให้เจ้าตัวน้อยวัยขวบปีแรก ควรเลือกหนังสือที่ทำจากกระดาษแข็งแผ่นหนา(Board Book) ที่มีความต้านทานการฉีกขาดสูงหรือหนังสือผ้า เพราะลูกวัยนี้ยังไม่สามารถควบคุมน้ำหนักมือได้เท่าไรนัก การหยิบจับจึงอาจดูรุนแรง บวกกับการชอบนำของเข้าปาก หนังสือ board book หรือหนังสือผ้า จึงเป็นทางเลือกที่ดีและปลอดภัยสำหรับเจ้าตัวน้อยวัยขวบปีแรก
29 ก.ย. 2566
10 ต.ค. 2566